จงอย่าลืม!!!!

อย่าลืม..ดินที่เคยหย่าง

ผญาเด็ดๆ อ่านด้วย!!

คันเจ้าได้อยู่ยอดฟ้าผาสาทประดับมุข อย่าได่ลืมเฮีอมทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า คันว่าได่ดีแล้ว อย่าลืมคุณพ่อแม่เผิ่นหา เลี้ยงแต่น้อยถนอมให้ใหญ่สูง

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี



     

      ต้นเทียนและการแห่เทียนพรรษาของเมืองอุบลฯ มีมานานนับร้อยปี จึงมีวิวัฒนาการมากมายหลายแบบหลายมิติดังที่กล่าวมา จากการแห่เทียนธรรมดาที่เรียบง่ายเป็นการแห่เทียนที่มีการร้องรำทำเพลงและการแสดงต่างๆ มากมาย จากการรวมกลุ่มร่วมมือร่วมแรงของชาวบ้านคุ้มต่างๆ ในราคาถูกเป็นการจัดทำของกลุ่มชาวบ้านกลุ่มพ่อค้าและข้าราชการต่างๆ ที่มีราคาแพง จากการแบกหามบรรทุกใส่เกวียนเป็นการบรรทุกใส่รถ จากรถคันเล็กเป็นรถคันใหญ่ จากรถคันใหญ่เป็นรถหลายคัน จากรถคันสั้นเป็นรถคันยาว จากรางวัลเพียงไม่กี่บาทก็เป็นรางวัลหลายแสนบาท จากการดำเนินงานตามลำพังของจังหวัดอุบลฯ ก็เป็นการดำเนินงานร่วมกันกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จากที่ไม่มีนักท่องเที่ยวก็มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ วิวัฒนาการมากมายหลายแบบหลายมิติเช่นนี้ ด้วยเพราะความอยากให้ต้นเทียนมีความแปลกแตกต่าง มีความสวยงาม มีความยิ่งใหญ่และชัยชนะ

       ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งจากภาคราชการ เอกชน และชาวบ้านคุ้มต่างๆ ในวันนี้ เทียนและการแห่เทียนพรรษาของเมืองอุบลฯ จึงนำมาซึ่งเกียรติยศ ชื่อเสียง ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้เมืองอุบลฯ จึงเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวอุบลฯ ยิ่งนัก

หมายเหตุ
      เทียนและการแห่เทียนพรรษาของเมืองอุบลฯ ถึงแม้จะมีความยิ่งใหญ่ สวยงาม วิจิตร ตระการตา ทั้งขบวนแห่และต้นเทียน และมีกิจกรรมประกอบงานมากมาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เริ่มจะซ้ำและจำเจในความรู้สึกของคนอุบลฯแล้ว ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาคนอุบลฯก็จะคิดหาวิธีการที่แปลกแตกต่างออกไปเพื่อให้ได้สิ่งใหม่ๆ แปลกๆ ตามมา หนึ่งในความแปลก แตกต่าง ที่ได้ยินได้ฟังมานั้น คือ การแห่เทียนทางน้ำ ทั้งนี้เพราะอุบลฯ มีแม่น้ำมูลเป็นแม่น้ำสายสำคัญและไหลผ่านตัวเมืองด้วย การแห่เทียนทางน้ำจะทำให้มีกิจกรรมและวิธีการต่างๆ มากมาย ทั้งทางขวนแห่และการจัดทำต้นเทียน อีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำอีกด้วย (มีผู้เสนอให้แห่ทางน้ำหนึ่งวัน ทางบกหนึ่งวัน เริ่มขบวนแห่ที่หาดคูเดื่อสิ้นสุดที่หาดวัดใต้ ให้มีเรือแพ เรือพาย เรือแข่ง และเรืออื่นๆ เป็นเรือประกอบ มีเรือต้นเทียนเป็นเรือหลัก เรือต้นเทียนจะเป็นเรือสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ในน้ำเป็นเรือพอขึ้นบกวิ่งเป็นรถเข้าขบวนแห่ทางบกได้เลย มีการประกวดทั้งบนบกและในน้ำ เสร็จแล้วนำไปถวายวัดที่อยู่ฝั่งน้ำ เช่น วัดสุปัฎนาราม วัดหลวง วัดใต้ เป็นต้น)

คัดลอกจาก http://www.ubonguide.org/book14/formcover14_1.html




 












เทศน์แหล่อีสานงานบุญข้าวสาก

การเทศน์แหล่ .....ฟังเทศน์แหล่น้ำตาไหล



แหล่ หมายถึงการเทศน์ที่ใช้เสียงและทำนองที่มุ่งความไพเราะเป็นสำคัญ เช่นเทศน์มหาชาติ เรียกว่า เทศน์แหล่ มีทั้ง แหล่ใน คือเทศน์ตามคัมภีร์เทศน์มหาชาติ และ แหล่นอก คือเทศน์เรื่องนอกคัมภีร์มหาชาติ


แหล่ อีกความหมายหนึ่งหมายถึงตอนหนึ่งหรือบทหนึ่งของแต่ละกัณฑ์ในเทศน์มหาชาติ เมื่อเทศน์ไปได้ตอนหนึ่งก็เรียกได้ว่าแหล่หนึ่ง สองตอนก็สองแหล่ จบแต่ละตอนก็เรียกว่าจบแหล่


แหล่ เป็นคำกร่อนมาจากคำว่า "นั่นแล" เพราะในการเทศน์มหาชาติทุกกัณฑ์ เมื่อจบตอนหนึ่งแล้วท่านจะลงท้ายด้วยคำว่า "นั่นแล" ทุกตอนไป เมื่อลากเสียงคำว่าแล ยาวออกไปจึงกลายเป็น แหล่ ไป










ประเพณีเดือนสิบสอง

                            

                                   เดือนสิบสอง บุญกฐิน



เดือนสิบสอง ฮีตคลองประเพณีอีสานบ้านเฮาอีกอย่างหนึ่งที่ทำสืบต่อกันมาคือ “บุญกฐิน” ครับพี่น้อง การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษะรับไว้ก่อนได้

การทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น

ผ้ากฐิน โดยความหมายก็คือผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมเรียกกันจนปัจจุบันนี้





ภาพบุญกฐิน สมัยเก่า


การทอดกฐิน เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรมค่ำเดือนสิบเอ็ด ไปจนถึงกลางเดือนสิบสอง

คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)





ความหมายของ บุญกฐิน


ความหมายของกฐิน

กฐิน เป็นศัพท์บาลี แปลตามศัพท์ว่าไม้สะดึง คือ “กรอบไม้” หรือ “ไม้แบบ” สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรในสมัยโบราณ ซึ่งผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐินหรือไม้สะดึงแบบนี้เรียกว่า ผ้ากฐิน (ผ้าเย็บจากไม้แบบ)

กฐิน อาจจำแนกตามความหมายเพื่อความเข้าใจง่ายได้ดังนี้

กฐิน เป็นชื่อของกรอบไม้แม่แบบ (สะดึง) สำหรับทำจีวร ดังกล่าวข้างต้น

กฐิน เป็นชื่อของผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์เพื่อกรานกฐิน (โดยได้มาจากการใช้ไม้แม่แบบขึงเย็บ)

กฐิน เป็นชื่อของงานบุญประเพณีถวายผ้าไตรจีวรแก่พระสงฆืเพื่อกรานกฐิน

กฐิน เป็นชื่อของสังฆกรรมการกรานกฐินของพระสงฆ์

ความสำคัญพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น

การถวายกฐินนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งทำให้การถวายกฐินมีความความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่นดังนี้

จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้

จำกัดเวลา คือกฐินเป็นกาลทานอย่างหนึ่ง (ตามพระบรมพุทธานุญาต) ดังนั้นจึงจำกัดเวลาว่าต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษา เป็นต้นไป

จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน

จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่พระวินัยกำหนดไว้

จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป

จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเองนับเป็นพระประสงค์โดยตรง


ความเป็นมาของกฐิน

ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ 30 รูป ได้เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่ยังไม่ทันถึงเมืองสาวัตถี ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน พระสงฆ์ทั้ง 30 รูป จึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงได้ออกเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความยากลำบากเพราะฝนยังตกชุกอยู่ เมื่อเดินทางถึงวัดพระเชตวัน พระพทธเจ้าได้ตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง เมื่อทราบความลำบากนั้นจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสสามารถรับผ้ากฐินได้ และภิกษุผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ 5 ประการ ภายในเวลาอานิสงส์กฐิน (นับจากวันที่รับกฐินจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4) คือ

ไปไหนไม่ต้องบอกลา

ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับสามผืน

ฉันคณโภชนะได้ (รับนิมนต์ที่เขานิมนต์โดยออกชื่อโภชนะฉันได้)

เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้โดยที่ยังมิได้วิกัปป์ และอธิษฐาน โดยไม่ต้องอาบัติ

จีวรลาภอันเกิดขึ้น จักได้แก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว

ประเพณีเดือนสิบเอ็ด


เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา



วันออกพรรษา หรือ วันปวารณาออกพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทยวันออกพรรษา



คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน (นับตั้งแต่วันเข้าพรรษา) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” คำว่า “ปวารณา” แปลว่า “อนุญาต” หรือ “ยอมให้” ใน วันออกพรรษา นี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ ทำให้ได้รู้ข้อบกพร่องของตน และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วยซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย


สำหรับ คำกล่าว ปวารณา มีคำกล่าวเป็นภาษาบาลีเป็นดังนี้ “สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ” มีความหมายว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้วจักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี


การออกพรรษานั้น ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะจัดเป็นญัตติกรรมวาจาสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอด เมื่อถึง วันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาสพรรษากาลในวันนี้ และวันถัดจาก วันออกพรรษา 1 วัน (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยยังนิยมไปทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหนะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า ในวันถัด วันออกพรรษา หนึ่งวัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลกกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 เพื่อลงมายังเมืองสังกัสสนคร พร้อมกับทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้งสามด้วย


กิจกรรมในวันออกพรรษา


วันออกพรรษา นี้พุทธศาสนิกชนถือว่าเป็นโอกาศอันดีที่จะกระทำ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัดและฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้มมัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน และการร่วมกุศล “ตักบาตรเทโว” ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11


1. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ

2. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา

3. ร่วมกิจกรรม “ตักบาตรเทโว” (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11)

4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและประดับธงชาติ และธงธรรมจักร ตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา

5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับ วันออกพรรษา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป
กิจกรรม ประเพณีวันออกพรรษา ของไทย


1. ประเพณีออกพรรษา แห่ปราสาทผึ้ง และการแข่งขันเรือยาว จังหวัด สกลนคร

2. ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด จังหวัด แม่ฮ่องสอน

3. ประเพณีตักบาตรเทโว จังหวัด อุทัยธานี

4. ประเพณีบุญแห่กระธูป จังหวัด ชัยภูมิ

5. ประเพณีชักพระ ทอดพระป่า และแข่งขันเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี

6. งานเทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาค จังหวัด หนองคาย

7. ประเพณีลอยผาสาด ดารดาษนทีโขง จังหวัด เลย

8. เทศกาลงานบุญออกพรรษา จังหวัดมุกดาหาร

9. ทำบุญตักบาตรสองแผ่นดิน เหนือสุดในสยาม จังหวัด เชียงราย

10. งานประเพณีลากพระและมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์ จังหวัดตรัง

11. ประเพณีแข่งโพนลากพระ จังหวัด พัทลุ

ประเพณีบุญเดือนสิบ

                                เดือนสิบ  บุญข้าวสาก



บุญเดือนสิบ   บุญข้าวสาก หมายถึงบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด
จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว
ที่ญาติโยมนำมาถวายและบุญนี้จะทำกันในวันเพ็ญเดือนสิบ
จึงเรียกชื่ออีกอย่างว่า  " บุญเดือนสิบ
มูลเหตุที่ทำ 
เพื่อจะทำให้ข้าวในนาที่ปักดำไปนั้นงอกงาม
และได้ผลบริบูรณ์ และเป็นการอุทิศส่วนกุศล
ถึงญาติผู้ล่วงลับไปแล้วความเป็นมาของ สลากภัตตทาน ในสมัยหนึ่งพุทธองค์ได้เสด็จไปกรุงพา ราณสี
ในคราว นี้นบุรุษเข็ญใจ พาภรรยาประกอบอาชีพตัดฟืนขายเป็นนิตย์เสมอมา
เขาเป็นคนเลื่อมใสพระพุทธศาสนายิ่งนัก


ภาพวาด การทำบุญชาวอีสาน
วันหนึ่งเขาได้ปรึกษากับภรรยาว่า   " เรายากจนในปัจจุบันนี้เพราะไม่เคยทำบุญ-ให้ทาน
รักษาศีลแต่ละบรรพกาลเลย ดังนั้นจึงควรที่เราจักได้ทำบุญกุศล
อันจักเป็นที่พึ่งของตนในสัมปรายภพ-ชาติหน้า " ภรรยาได้ฟังดังนี้แล้ว ก็พลอยเห็นดีด้วย

จึงในวันหนึ่งเขาทั้งสองได้พากันเข้าป่าเก็บผักหักฟืนมาขายได้ทรัพย์แล้ว
ได้นำไปจ่ายเป็นค่าหม้อข้าว   ๑   ใบ หม้อแกง   ๑   ใบ อ้อย   ๔   ลำ กล้วย   ๔   ลูก
นำมาจัดแจงลงในสำรับเรียบร้อยแล้วนำออกไปยังวัด เพื่อถวายเป็น สลากภัตตทาน
พร้อมอุบาสกอุบาสิกาเหล่าอื่น

สามีภรรยาจับสลากถูกพระภิกษุรูปหนึ่งแล้วมีใจยินดี
จึงน้อมภัตตาหารของตนเข้าไปถวายเสร็จแล้วได้หลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นปฐพี
แล้วตั้งความ ปราถนา   " ด้วยผลทานทั้งนี้ข้าพเจ้าเกิด ในปรภพใดๆ
ขึ้นชื่อว่าความยากจน เข็นใจไร้ทรัพย์เหมือนดังในชาตินี้ โปรดอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเลย
ขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและมีฤทธิ์เดชมาก
ในปร ภพภายภาคหน้าโน้นเถิด "   ดังนี้   
ครั้นสองสามีภรรยานั้นอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้วก็ดับชีพวายชนม์ไปตามสภาพของสังขาร
ด้วย อานิสงฆ์แห่ง สลากภัตตทาน จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในดาวดึงส์สวรรค์
เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภาตระการยิ่งนัก
พร้อมพรั่งไปด้วยแสนสุ รางค์นางเทพอัปสรห้อมล้อมเป็นบริวาร
มีนามบรรหารว่า   " สลากภัตต เทพบุตรเทพธิดา "

กาล   กต วา ครั้นจุติเลื่อนจากสวรรค์แล้วก็ได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์ในเมืองพา ราณสี
มีพระนามว่าพระเจ้าสัทธา ดิส   เสวยราชสมบัติอยู่   ๘๔ , ๐๐๐   ปี ครั้นเบื่อหน่ายจึงเสด็จออกบรรพชา

ครั้นสูญสิ้นชีวาลงแล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก และต่อมาก็ได้มาอุบัติเป็นพระตถาคตของเรานั่นเอง
นี่คือ อานิสงฆ์แห่งการถวาย สลากภัตต์   นับว่ายิ่งใหญ่ไพศาลยิ่งนัก สามารถอำนวยสุขสวัสดิ์
แก่ผู้บำเพ็ญทั้งชาติมนุษย์และสวรรค์ ในที่สุดถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้

ภาพวาด ทำบุญข้าวสาก
คำถวายสลากภัต 
เอตานิมะนังภันเต สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ   อะสุภัฏฐาเน   ฐะปิตานิ
ภิกขุสังฆัสสะ   โอโณชะยามะ สาธุโน   ภันเต ภิกขุสังโฆ   เอตานิ สะลากะภัตตานิ
สะปะริวารานิ   ปะฏิคัณหาตุ อัมหากัง   ทีฆะรัตตัง   หิตายะ สุขายะ 

คำแปล

ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านั้น
ซึ่งตั้งไว้ ณ ที่โน้น ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายแด่พระภิกษุสงฆ์
ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับซึ่งภัตตาหารพร้อมทั้งของที่เป็นบริวารเหล่านี้
ของข้าพเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ.
       
พิธีกรรม
เมื่อถึงวันขึ้น   ๑๔   ค่ำ เดือน   ๑๐   ญาติโยมจะเตรียมอาหาร คาวหวาน
และหมากพลู บุหรี่ พอเข้าวันขึ้น   ๑๙   ค่ำ เดือน   ๑๐   ญาติโยมจะพากันทำบุญใส่บาตร
พอถึงเวลาประมาณ   ๙ - ๑๐   โมงเช้า   พระสงฆ์จะตีกลอง โฮม ( รวม) ญาติโยมจะนำอาหาร
ที่เตรียมถวายพระสงฆ์และห่อข้าวน้อยซึ่งมีอาหารคาวหวาน อย่างละเล็กอย่างละน้อยแต่ละห่อประกอบด้วย
๑ .   ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปอย่างละเล็กอย่างละน้อยถือเป็นอาหารคาว
๒ .   กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด ฟักทอง (แล้วแต่จะเลือกใส่)เป็นอาหารหวาน

หลังจากนำอาหารที่เตรียมห่อเป็นคู่ๆ นำมาผูกกันเป็นพวงแล้วแต่จะใส่กี่ห่อก็ได้ส่วนใหญ่จะใช้   ๑๐   คู่
เมื่อนำไปเลี้ยง   " ผีตา แฮก "   ที่นาของตนเองด้วย โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ผีตา แฮกพอใจ
และช่วยดูแลข้าวกล้าในนาให้งอกงามสมบูรณ์ ตลอดจนช่วยขับไล่ศัตรูข้าวได้แก่ นก หนู ปูนา
ไม่ให้มาทำลายต้นข้าวในนาอีกส่วนหนึ่ง

เมื่อนำอาหารมาถึงศาลาวัดที่จะทำบุญแล้ว เขียนชื่อของตนลงในกระดาษ ม้วนลงใส่ในบาตร
เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้ว ผู้ที่จะเป็นหัวหน้ากล่าวนำคำถวายสลากภัต
ญาติโยมว่าตามจบแล้วนำไปให้พระเณร จับสลากที่อยู่ในบาตร พระเณรจับได้สลากของใคร
ผู้เป็นเจ้าของพาข้าว(สำรับกับข้าว)และเครื่องปัจจัยไทยทานก็นำไปประเคนให้พระรูปนั้นๆ
จากนั้นพระเณรจะฉันเพล ให้พรญาติโยมจะพากันรับพรแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ล่วงลับไปแล้วทุกๆ คน

ประเพณีบุญเดือนเก้า

                            เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน

ในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนเก้า ชาวลาวและชาวไทยอีสานจะมีงานบุญสำคัญเกิดขึ้นงานหนึ่ง เรียกกันในชื่องานบุญข้าวประดับดิน หรืองานบุญเดือนเก้า ซึ่งจะตรงกับเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยจะนำข้าวปลาอาหาร ของคาว ของหวาน ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ แบ่งมาอย่างละเล็ก อย่างละน้อย ห่อใบตองเป็นห่อเล็กๆ นำไปวางไว้ตามโคนไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินรอบๆ เจดีย์หรือโบสถ์ เพื่ออุทิศกุศลให้แก่ปู่ย่าตายายญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยจะเรียกประเพณีนี้ว่า ประเพณีบุญข้าวประดับดิน
บุญข้าวประดับดิน
ที่ชาวลาวและชาวไทยอีสานเลือกวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนเก้าเป็นวันทำบุญข้าวประดับดินก็สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า ในคืนวันดังกล่าว ประตูนรกภูมิจะเปิดออก ภูติผีในนรกจะได้ออกมาเยี่ยมญาติพี่น้องในโลกมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่จึงจัดห่อข้าวปลาอาหารนำมาเลี้ยงดูญาติพี่น้องของตนที่เสียชีวิตไปแล้ว
ความเชื่อดังกล่าวนี้มีที่มาจาก ตอนหนึ่งในพระธรรมบท ที่เล่าถึงพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไม่ได้อุทิศให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ทำให้ดวงวิญญาณญาติต่างไม่ได้รับส่วนบุญ จึงมาส่งเสียงร้องใกล้ที่ประทับ หลังทูลถามพระพุทธเจ้า ทรงแนะนำให้พระเจ้าพิมพิสารถวายทานแล้วอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณญาติเหล่านั้นนั่นเอง
boon2
กิจกรรมหรือพิธีกรรมในวันทำบุญข้าวประดับดินนั้น จะเริ่มกันล่วงหน้า ๑ วันก่อนถึงวันงาน ในตอนเย็น จะมีการจัดเตรียมอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรีไว้ ๔ ชุดด้วยกัน  ชุดที่หนึ่งไว้เลี้ยงดูภายในครอบครัว ชุดที่สองแจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง ชุดที่สามจะห่อข้าวน้อยหรือห่อใบตองขนาดเท่าฝ่ามืออุทิศให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และชุดที่สี่ เตรียมไว้ถวายพระภิกษุสงฆ์
สำหรับอาหารคาวหวานผลหมากรากไม้ที่นำมาห่อใบตอง ประกอบด้วย ข้าวเหนียวนึ่งสุก ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ เท่าหัวแม่มือ ๑ ก้อน เนื้อปลา หมู่ ไก่  กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง มะละกอ มันแกว อ้อย มะละกอสุก หรือขนมหวานอื่นๆ  หมาก ๑ คำ บุหรี่ ๑ มวน เมี่ยง ๑ คำ
27092013_17_00_16_tekhn7pfsxrah0nc64wt
หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำห่อใบตองนี้ไปวางตามโคนไม้ใหญ่ ตามริมกำแพงวัด ริมโบสถ์ เจดีย์ในวัดในช่วงเช้ามืดของวันทำบุญ และกลับไปเตรียมอาหารนำไปถวายที่วัด มีการถวายปัจจัยไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์ รับพรจากพระสงฆ์ ชาวบ้านก็จะมากรวดน้ำ อุทิศกุศลผลบุญให้แก่บรรพบุรุษ ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
หากมองผิวเผิน งานประเพณีบุญข้าวประดับดินนี้ เป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับแล้ว ยังถือเป็นการฝึกฝนจิตใจให้เป็นผู้ให้ แก่ผู้ยากไร้ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่ต้องหิวโหย  ที่อาจจะเดินผ่านมายังบริเวณที่วางห่อข้าวน้อยนี้ไว้ตามทาง ชำระล้างความตระหนี่ถี่เหนียว ความเห็นแก่ตัวในจิตใจคนเราได้เป็นอย่างดี

ประเพณีบุญเดือนแปด

                        เดือนแปด  บุญเข้าพรรษา


 เดือน ๘ เป็นเดือนอยู่ในระยะหน้าฝน และเป็นเดือนที่พระอยู่จำพรรษาตลอดสามเดือน ไม่ไปค้างคืนที่อื่น ยกเว้นแต่มีกิจที่จำเป็น บางทีพอที่จะอนุโลม ให้ไปค้างคืนที่อื่นได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน ๗ วัน ถ้าเกินนั้นถือว่าพรรษาขาด โดยปกติแล้วกำหนดเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของปีที่เป็นปกติมาส(๘ หนเดียว) เป็นวันอธิฐานเข้าพรรษา สำหรับปีที่เป็นอธิกมาสคือ ๘ สองหน กำหนดเอาวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ หลัง เป็นวันอธิฐานเข้าพรรษา เพราะมีกำหนดทำกันในเดือน ๘ เป็นประจำ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนแปด”

           ส่วนการทำบุญในวันเข้าพรรษานี้ ส่วนใหญ่แล้วจะมีการถวายเทียนเข้าพรรษา เพื่อให้ภิกษุสามเณร ได้จุดบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณตลอดพรรษา และอีกอย่างหนึ่งคือการถวายผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระได้ใช้นุ่งอาบน้ำในหน้าฝน ตลอดทั้งการใช้ประโยชน์อย่างอื่นตามความเหมาะสม ซึ่งในเรื่องการถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้ มีเรื่องเล่าไว้ในฎีกาสมันตปสาทิกา ในส่วนที่ว่าด้วยวัสสูปนายิกขันธกะว่า ในยุคต้นๆก่อนพุทธกาล พระภิกษุสมัยนั้นเปลือยตัวอาบน้ำ อันเนื่องมาจากจีวรหรือผ้าใช้นุ่งห่มนี้น้อย จึงต้องใช้ผ้าอย่างจำกัด วันหนึ่งนางวิสาขามหาอุบาสิกาใช้ให้สาวใช้ไปวัด ในขณะนั้นฝนกำลังตก พอสาวใช้เข้าไปในวัด นางเห็นพวกภิกษุเปลือยตัวอาบน้ำฝนกันอยู่ เกิดเข้าใจว่าเป็นเปรต จึงได้กลับไปบอกนางวิสาขาว่า ที่วัดไม่มีพระเลยซักองค์เดียว มีแต่พวกเปรตเดินเพ่นพล่านอยู่ทั่ววัด นางวิสาขาเกิดความสงสัยว่า ถ้าในวัดมีแต่เปรตเช่นว่านั้นแล้ว พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ จะมีความเป็นอยู่อย่างไร ด้วยความเป็นห่วงนางจึงได้มายังวัดพระเชตวันพร้อมทั้งสาวใช้ แต่ก็ไม่เห็นอะไรเลย เพราะฝนได้หยุดตกแล้ว นางได้เข้าเฝ้าและทูลถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องตามความเป็นจริงให้ฟังว่า ที่อุบาสิกาเห็นนั้นมิใช่เปรต นั้นเป็นภิกษุที่กำลังอาบน้ำฝนอยู่ต่างหาก


                                    


           ในเมื่อนางวิสาขาเข้าใจความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว นางจึงได้ขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุสงฆ์เป็นคนแรก และพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต การถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้ ถือได้ว่า ได้บุญมาก และเป็นกาละทานชนิดหนึ่งที่ชาวพุทธทั่วไปนิยมทำกันเมื่อถึงฤดูเข้าพรรษา เดือนแปดนี้ มีบทผญาประจำเดือนที่นักปราชญ์โบราณกล่าวไว้ว่า...

           "จันทร์เพ็งแจ้งทอแสงใสสง่า
           เดือนแปดมาฮอดแล้วแววสิขึ้นลื่นหลัง
           เดือนนี้สงฆ์เพิ่นยังเข้าอยู่จำพรรษา
           ภาวนาอบรมข่มใจทุกแลงเช้า
           เฮามาพากันเข้าเอาบุญพร้อมพร่ำ
           ถวายผ้าอาบน้ำฟ้าให้ญาท่านได้ใช้สอย

           ถือเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด เป็นวันทำบุญ การเข้าพรรษาได้แก่ พระภิกษุสามเณร อยู่ประจำวัดใดวัดหนึ่งตลอด ๓ เดือน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปด ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรไปค้างคืนที่อื่น นอกจากไปด้วยสัตตาหกรณียะ คือการไปค้างคืนนอกวัดในระหว่างอยู่จำพรรษา เมื่อมีเหตุจำเป็น ได้แก่

           ๑. สหธรรมิก (ผู้มีธรรมอันร่วมกัน) หรือมารดาบิดาป่วย ไปเพื่อรักษาพยาบาล
           ๒. สหธรรมิกกรวะสันจะสึก ไปเพื่อระงับ
           ๓. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุด ไปเพื่อปฏิสังขรณ์
           ๔. ทายกบำเพ็ญกุศล ส่งมานิมนต์ไปเพื่อบำรุงศรัทธา

           แม้ธุระอื่นนอกจากนี้ ที่เป็นกิจจะลักษณะอนุโลมตามนี้ก็ไปค้างคืนที่อื่นได้ และต้องกลับมาภายใน ๗ วัน
มูลเหตุมีการเข้าพรรษาเนื่องจากสมัยพุทธกาาล เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอย่เวฬุวันกลันทกะนิวาปะสถาน ณ เมืองราชคฤห์ มีพระภิกษุพวกหนึ่งเรียกว่า "ฉับพัคคีย์” ได้เที่ยวไปทุกฤดูกาล ไม่สหยุดพักเลย โดยเฉพาะฤดูฝนอาจไปเหยียบย่ำข้าวกล้า และหญ้าระบัดใบ ตลอดสัตว์เล็กเป็นอันตราย ประชาชนทั่วไปพากันติเตียน พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุสามเณรจำพรรษาตามกำหนดเวลาดังกล่าว
พิธีทำบุญเข้าพรรษา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด ชาวบ้านมีการถวายภัตตาหารเข้าหรือเพล พร้อมเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นแด่พระสงฆ์ เช่น ไตรจีวร ตั่งเตียง ยารักษาโรค เป็นต้น โดยเฉพาะเครื่องให้แสงสว่าง เช่น เทียน ตะเกียง น้ำมัน เป็นต้น ถือเป็นสิ่งสำคัญ เชื่อว่าถวายแล้วทำให้ตาทิพย์และสติปัญญาดี จอกจากนี้ มีการถวายต้นเทียน ซึ่งหล่อเป็นเล่ม หรือแท่งขนาดใหญ่ ตกแต่งอย่างสวยงาม และผ้าอาบน้ำฝน ตลอดบริวารอื่น ๆ แด่พระสงฆ์ มีการสวดมนต์ และฟังเทศน์ด้วย

           วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือน ในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ จนถึงกลางเดือน ๑๑ วันเข้าพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้มีอยู่ ๒ วันคือ

           วันเข้าปุริมพรรษา คือเข้าพรรษาแรก ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๑๑
วันเข้าปัจฉิมพรรษา คือวันเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ไปจนถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒

           เมื่อเข้าพรรษาแล้วหากภิกษุมีกิจธุระจำเป็น อันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ โดยมีข้อจำกัดว่าจะต้องกลับมายังสถานที่จำพรรษาเดิมภายใน ๗ วัน ที่เรียกว่า สัตตาหกรณียะ ดังต่อไปนี้

           ๑. เมื่อทายกทายิกา ปราถนาจะบำเพ็ญกุศล เมื่อมานิมนต์ก็ให้ไปเพื่อรักษาศรัทธาได้
           ๒. ถ้าสงฆ์ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเกิดอธิกรณ์ขึ้น ก็ให้ไปเพื่อระงับอธิกรณ์ได้
           ๓. ถ้าบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ เป็นไข้ เมื่อทราบก็ให้ไปได้
           ๔. พระวิหารในที่แห่งอื่นเกิดชำรุดเสียหาย ให้ไปหาสิ่งของเพื่อมาปฏิสังขรพระวิหารนั้นได้
           ๕. เมื่อถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น พระวิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม ก็ให้ไปจากที่นั้นได้
           ๖. เมื่อชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป ก็ให้ไปกับพวกชาวบ้านได้โดยให้ไปกับชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธาสามารถที่จะให้ความอุปถัมภ์ได้
           ๗. เมื่อที่ใดเกิดความขาดแคลน อาหารหรือยารักษาโรค ขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง ได้รับความลำบากก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
           ๘. ถ้าหากมีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
           ๙. หากภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกันหรือมีผู้พยายามจะให้แตกกัน ถ้าการไปจากที่นั้นสามารถระงับการแตกกันได้ ก็อนุญาตให้ไปได้

           ในวันเข้าพรรษา ถือว่าเป็นกรณียกิจพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จะมีการประชุมกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาซึ่งกันและกัน เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีเข้าพรรษา ภิกษุจะอธิษฐานใจตนเองว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า

           อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ
           หรือว่า อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ
           แปลว่า ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือน ในอาวาสนี้ หรือในวิหารนี้ (ว่า ๓ ครั้ง)
           หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้วก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญในอาวาสนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และพระเถระที่ตนเคารพนับถือ


           ในวันเข้าพรรษานี้ตามประวัติ ชาวไทยเราได้ประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันเข้าพรรษา มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีทั้ง พิธีหลวง และ พิธีราษฎร์ กิจกรรมที่กระทำก็มีการเตรียมเสนาสนะให้อยู่ในสภาพที่ดี สำหรับจะได้จำพรรษาอยู่ตลอด ๓ เดือน จัดทำ เทียนจำนำพรรษา เพื่อใช้จุดบูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมา พระปริยัติธรรม ตลอดทั้ง ๓ เดือน ถวายธูป เทียน ชวาลา น้ำมันตามไส้ประทีปแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในพระอาราม

           สำหรับเทียนจำนำพรรษาจะมีการ แห่เทียน ไปยังพระอารามทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่หนทางที่ไปจะอำนวยให้ เพื่อนำเทียนเข้าไปตั้งในพระอุโบสถหรือพระวิหาร แล้วก็จะจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย
สำหรับการปฏิบัติอื่นๆ ก็จะมีการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน การอธิษฐานตนว่าจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของศีลห้า ศีลแปด ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด ตามกำลังศรัทธา และขีดความสามารถของตน นับว่าวันเข้าพรรษาเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชน จะได้ประพฤติปฏิบัติตนในกรอบของพระพุทธศาสนาได้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง 

ประเพณีบุญเดือนเจ็ด


                                 เดือนเจ็ด  บุญซำฮะ


                      บุญซำฮะ

  เดือนเจ็ด บุญซำฮะ (บุญชำระ)
เป็นการทำบุญเพื่อชำฮะเป็นบุญที่ชาวบ้านจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้เรียบร้อยเป็นการทำความสะอาด เพราะมีความเชื่อว่าจะเป็นการชำระสิ่งไม่ที่เป็นเสนียดจัญไรทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมืองออกไป เป็นการปัดเป่าความชั่วร้ายให้ออกจากหมู่บ้าน ความเป็นมาของการทำบุญซำฮะ เนื่องมาจากสมัยพุทธกาลมีโรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดมีผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมากที่เมืองไพศาลี พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จมาโปรดทำให้เกิดฝนห่าใหญ่มาชำระบ้านเมือง มีการสวดปัดรังควานและประพรมน้ำมนต์ตามหมู่บ้านและแก่ชาวบ้าน เพื่อเป็นสิริมงคล นอกจากนั้นการทำบุญชำฮะยังถือเป็นโอกาสทำพิธีบูชาผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีเมือง ผีปู่ตา ผีตาแฮก (ผีประจำไร่นา) เพื่อเป็นการระลึกถึงผู้มีพระคุณเพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข





ประเพณีบุญเดือนหก

                          เดือนหก บุญบั้งไฟ
ประเพณีบุญบั้งไฟ หรือ “งานบุญเดือนหก”  เป็นประเพณีพื้นถิ่นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่จัดในช่วงฤดูฝนที่เข้าสู่ฤดูทำนา อยู่ในช่วงเดือน ชาวนาชาวไร่จะทำพิธีบูชาขอฝนจากพญาแถน เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  ข้าวกล้าในนาไม่เสียหาย

ประเพณีบุญบั้งไฟนี้มีที่มาจากตอนหนึ่งของนิทานพื้นบ้านเรื่องผาแดงนางไอ่ ที่ได้กล่าวถึง การจุดบั้งไฟเป็นการบูชาพพญาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ตามความเชื่อของชาวอีสาน เชื่อกันว่าพญาแถนคือเทพที่คอยดูแลให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล และชอบไฟมากเป็นพิเศษ หากบ้านใดจัดงานบุญบั้งไฟขึ้นบูชา พญาแถนก็จะดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ผืนดินอุดมสมบูรณ์
นอกจากจะเป็นการขอฝนแล้ว ในความเชื่อของชาวบ้านในท้องถิ่นมีอยู่ว่าการจุดบั้งไฟยังเป็นการเสี่ยงทายอย่างหนึ่ง  ถ้าจุดบั้งไฟแล้วลอยขึ้นสูง ทำนายได้ว่าปีนี้ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ดี
ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของประเพณีขอฝนของชาวอีสานนี้ก็คือ ภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำบั้งไฟจากกระบอกไม้ไผ่ที่บรรจุดินปืนลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าได้คล้ายกับจรวดซึ่งในสมัยก่อนวิทยาการยังไม่ก้าวหน้า แต่ชาวอีสานสามารถทำบั้งไฟลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน
บั้งไฟ
ในวันงานประเพณีบุญบั้งไฟ ชาวบ้านจะนำบั้งไฟของแต่ละหมู่บ้านมาจุดแข่งกัน บั้งไฟของบ้านไหนจุดแล้วลอยสูงที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะไป ส่วนบั้งไฟที่ลอยต่ำที่สุดหรือแตกก่อนถือว่าแพ้ ผู้แพ้ต้องโดนลงโทษด้วยการอุ้มไปโยนลงบ่อโคลน สร้างเสียงหัวเราะบรรยากาศสนุกสนานในงาน
งานบุญบั้งไฟของชาวอีสานจึงเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงการเคารพ ให้เกียรติธรรมชาติ และการฉลอง ความสนุกสนาน รื่นเริง ในวันงานจึงมีขบวนแห่บั้งไฟพร้อมนางเซิ้งนำขบวนแห่บั้งไฟ มีการประกวด แข่งขันจุดบั้งไฟ   จังหวัดที่จัดงานบุญบั้งไฟอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดยโสธร และจังหวัดหนองคาย

ประเพณีบุญเดือนห้า

                                    เดือนห้า บุญสงกรานต์



ประวัติวันสงกรานต์


คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤตว่า “สํ-กรานต” ซึ่งแปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือย้ายขึ้น โดยมีนัยความหมายว่า การเข้าสู่ศักราชราศีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่นั้นเอง โดยเทศกาลสงกรานต์ นั้นเป็นประเพณีที่มีความเก่าแก่และคนไทยสืบทอดกันมาแต่โบราณคู่กับประเพณีตรุษจีนกันเลยทีเดียว จึงได้มีการรวมเรียกกันว่า “ประเพณีตรุษสงกรานต์” ซึ่งแปลว่าการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ นั้นเอง
วันมหาสงกรานต์


ในสมัยโบราณ คนไทยถือว่า วันขึ้น 1 ต่ำ เดือนอ้าย ซึ่งจะตรงในช่วงเดือน พฤศจิกายนหรือธันวาคม ให้เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ จนต่อมาในสมัยยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี พ.ศ. 2483 ได้เปลี่ยนวันปีใหม่ให้เป็นวันสากล คือ วันที่ 1 มกราคม แต่ถึงอย่างไร คนโบราณก็ยังคงคุ้นเคยกับวันปีใหม่ไทยในเดือนเมษายน จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยร่วมด้วย





นางสงกรานต์ 2559 “มณฑาเทวี”


นางสงกรานต์ 2559

นางสงกรานต์ ในโบราณมีการกำหนดไว้ถึง 7 นางด้วยกัน ซึ่งแต่ละนางก็จะมีความหมาย คำทำนายที่แตกต่างกันออกไป โดยทั้ง 7 นางสงกานต์ จะประกอบไปด้วย
นางทุงษะเทวี
นางรากษเทวี
นางโคราคเทวี
นางกิริณีเทวี
นางมณฑาเทวี
นางกิมิทาเทวี
นางมโหธรเทวี 

สำหรับวันสงกรานต์ ปี 2559 นี้ นางสงกรานต์ ได้แก่ “มณฑาเทวี” โดย นางสงกรานต์นามว่า “มณฑาเทวี” ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย หัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร (นอนลืมตา) มาเหนือหลังคัสพะ (ลา) เป็นพาหนะ





สรงน้ำพระในวันสงกรานต์

กิจกรรมในวันสงกรานต์

ทำบุญตักบาตร วันมหาสงกรานต์ ประชาชนจะลุกขึ้นมาตอนเช้าเพื่อที่จะจัดเตรียมอาหาร ไปตักบาตรถวายพระ พอจัดเตรียมอาหารเสร็จก็จะ บรรจงลงภาชนะมีถ้วยโถโอชามที่สวยงาม แล้วเอาวางเรียงลงในถาด เพื่อนำไปทำบุญตักบาตรและเลี้ยงพระประจำหมู่บ้านของตน เรื่องการแต่งตัว จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สะอาดสวยงามมิดชิดเหมาะแก่การไปวัดของชาวบ้าน

ก่อพระเจดีย์ทราย ใน สมัยก่อนทีเรื่องเล่าขานกันว่าทุกคนเมื่อเข้าวัดมาแล้วเวลาเดินออกจากวัดจะ มีเม็ดทรายติดเท้าออกไปด้วยเพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการเติมเต็มจึงมีการขนทราย เข้าวัดหรือการก่อพระเจดีย์ทรายนั้นเองแต่ถึงอย่างไรแล้วการก่อพระเจดีย์ ทรายก็เป็นเพียงกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกันทำเพราะตอน เย็นๆชาวบ้านก็จะพากันไปที่ท่าน้ำแล้วขนทรายกันมาคนละถังเพื่อนำทรายมาก่อ เป็นพระเจดีย์นั่นถือว่าเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่จะให้ชาวบ้านมีความสามัคคี กรมเกลียวเพราะเมื่อขนทรายเข้าวัดแล้วทรายก็จะล้นวัดพระสงฆ์ก็จะนำทรายที่ ชาวบ้านขนมานำไปคืนสู่แม่น้ำดังเดิมเพราะไม่รู้จะเก็บไว้ทำอะไรเพราะฉะนั้น แล้วเวลาขนทรายเข้าวัดควรจะขนเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้นพอเพราะจะสร้างความ ลำบากให้พระเณรในภายหลัง

สรงน้ำ รดน้ำ และเล่นน้ำ การ สรงน้ำพระพุทธรูป มีดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชา แล้วเอาน้ำอบไปประพรมที่องค์พระ ทำเป็นสังเขปพอเป็นพิธีว่าได้แสดงความเคารพบูชาและสรงน้ำท่านในวันขึ้นปี ใหม่แล้ว เมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปมา ก็มีการแห่แหนกันอย่างสนุกสนาน สรงน้ำพระพุทธรูปแล้วก็มีการสรงน้ำพระสงฆ์ โดยมากมักเป็นสมภารเจ้าวัดเป็นการสรงน้ำจริงๆ สรงเสร็จครองไตรจีวรใหม่ที่อุบาสกอุบาสิกานำ มาถวาย ท่านก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์อำนวยพรปีใหม่ให้แก่ผู้ที่ไปสรงน้ำ นอกจากนี้ยังมีการ รดน้ำญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรตามประเพณี



เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์

ในวันสงกรานต์ของประเทศไทยในแต่ละภาคจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

‹ – สงกรานต์ภาคกลาง
13 เมษายน จะเรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” และถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย
14 เมษายน จะเรียกว่า “วันเนา” และถือเป็นวันครอบครัว
15 เมษายน จะเรียกว่า “วันเถลิงศก” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่

– สงกรานต์ภาคเหนือ
13 เมษายน จะเรียกว่า “วันสงขารล่อง” ความหมายว่า อายุสิ้นปีหมดไปอีกปี
14 เมษายน จะเรียกว่า “วันเน่า” วันที่ห้ามพูดคำหยาบคาย
15 เมษายน จะเรียกว่า “วันพญาวัน” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่

– สงกรานต์ภาคใต้
13 เมษายน จะเรียกว่า “เจ้าเมืองเก่า” เชื่อกันว่าวันที่เทวดารักษาบ้านเมืองจะกลับบนสวรรค์
14 เมษายน จะเรียกว่า “วันว่าง” วันที่ปราศจากเทวดารักษาเมือง
15 เมษายน จะเรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” วันรับเทวดาองค์ใหม่เพื่อดูแลบ้านเมืองแทนองค์เดิม

ประเพณีบุญเดือนสี่

                       เดือนสี่ ผะเหวด


หลายคนคงจะสงสัยอยู่ว่าคำว่า "ผะเหวด" มีความหมายอย่างไร คำว่า "ผะเหวด" นั้นเป็นการออกเสียงตามสำเนียงอีสาน มาจากคำว่า "พระเวส" หมายถึงพระเวสสันดร งานบุญผะเหวดเป็น 1 ในประเพณี 12 เดือน หรือ ฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน (การทำบุญประเพณี 12 เดือน) โดยพระเพณีนี้จะจัดขึ้นในเดือนที่ 4 ของไทยหรือเดือนมีนาคม โดยกำหนดจัดงานในวันเสาร์และอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี
ประเพณีบุญผะเหวดหรือบุญเดือนสี่นั้น สะท้อนให้เห็นถึง ความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวอีสานยึดถือและปฏิบัติกันมาช้านานและอย่างเคร่งครัด เพราะถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ที่สุดก็ว่าได้
ภาพรวมบุญผะเหวดร้อยเอ็ด
การจัดงานบุญผะเหวดนั้นอยู่ที่การเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติ มีจำนวนทั้งหมด 13 กัณฑ์ โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าถ้าหากว่าฟังเทศน์ครบทั้งหมดวันเดียว และจัดเตรียมเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง ก็จะได้เกิดในศาสนาพระอริยเมตไตรย แต่ถ้าหากตั้งเครื่องคาย (บูชา) ไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดอาเพศและสิ่งไม่ดีต่างๆ ตามมา จึงทำให้ทุกคนในหมู่บ้าน ให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างมาก โดยจะมาทำพิธีร่วมกันอีกประการหนึ่ง คือ เพื่อระลึกถึงพระเวสสันดร พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพียรบารมีชาติสุดท้ายของพระองค์ก่อนจะเสวยชาติ และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายหลัง

หลังจากนั้นจะนิมนต์พระอุปคุตมาสถิต ณ บริเวณพิธี โดยมีขบวานแห่ดอกไม้ ธูป เทียน ขันห้าหรือขันแปด ไปยังสระน้ำที่อยู่ใกล้ๆ แล้วผู้อาวุโสจะหยิบก้อนหินจากสระน้ำถาม 3 ครั้ง ก่อนจะนำหินมาสถิตๆ ไว้ยัง "หอพระอุปคุต" (สมมุติว่าหินนั้นเป็นพระอุปคุต) โดยกำหนดหอพระอุปคุตเป็นศาลเพียงตา หรือทำหิ้งบูชาอยู่ในมณฑลพิธี ซึ่งจะมีเครื่องบูชาต่างๆ ได้แก่ บาตรพระ, ขันห้าหรือขันแปด, ผ้าไตรจีวร, พานหมากและพานยาสูบ, ร่มกางกันแดด, น้ำดื่มและกระโถน วางไว้
บุณผะเหวด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บุญมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสองของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน ก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ในตำนานฮีตสิบสอง ได้กล่าวถึงการทำบุญผะเหวด ไว้ว่า "ฮอดเดือน ๔ ให้พากันเก็บ ดอกจาน สานบั้งไม้ไผ่เสียบดอกจิก ..." ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไปของชาว อีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือนสาม พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาตินี้เอง และในงานนี้ ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ ไปเกิดในภพพระอริยเมตไตรย์
ขบวนแห่บุญผะเหวด
ชาวอีสาน จะจัดทำบุญผะเหวด ปีละหนึ่งครั้ง ระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ไปจนถึงกลางเดือน ๕ โดยจะมีวันรวม ตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลา หรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมาร รอบๆ ศาลการเปรียญจะแขวน ผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์สุดท้าย
การจัดงานประเพณีบุญผะเหวดที่ถือว่าจัดได้ยิ่งใหญ่ เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดต้องที่เมืองเกินร้อย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจะจัดประเพณีบุญผะเหวดในช่วงสัปดาห์แรก ของเดือนมีนาคม ของทุกปี ในชื่องาน "กินข้าวปุ้น บุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ"

ชาวร้อยเอ็ดทุกหมู่เหล่า ได้จัดร้านข้าวปุ้น (ขนมจีน) พร้อมทั้งน้ำยาหลากหลายชนิด ให้ผู้มาร่วมงานได้กินฟรีตลอดงาน พร้อมจัดกิจกรรมการแข่งขันกินข้าวปุ้นเร็ว ชิงรางวัลเงินสด และถ้วยรางวัล การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การประกวดดนตรีพื้นบ้าน การเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน ส่วนภาคกลางคืน จะเป็นการแสดงแสง สี เสียง ตำนานพระเวสสันดรชาดก โขนจากกรมศิลปากรเรื่อง รามเกียรติ์ และหนังตะลุง ให้ชมฟรีตลอดทั้งคืนอีกด้วย
บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาล ที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่า และอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป

ประเพณีบุญเดือนสาม


                                      เดือนสาม บุญข้าวจี่


ในวันเพ็ญเดือนสามให้ทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา เริ่มพิธีทำบุญข้าวจี่ในตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน ขนาดเท่ากำปั้นแล้วใช้ไม้ไผ่ที่เหลากลมๆ เสียบตรงกลาง ตามยาวของปั้นข้าวเหนียวแล้วนำไปปิ้งพอเกรียมแล้วชุบด้วยไข่ ย่างไฟจนสุก แล้วใส่ภาชนะไปตั้งใว้ในศาลาวัด นิมนต์พระมาให้ศีลให้พร แล้วเอาข้าวจี่ใส่บาตรนำถวายแด่พระสงฆ์ พร้อมด้วยอาหารอื่นๆ เมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการแสดงพระธรรมเทศนา ตอนเย็นมีการเวียนเทียนมาฆบูชาฟังเทศน์ที่วัด





ฮีตที่สาม
มูลเหตุที่ทำให้เกิดประเพณีนี้ขึ้น
เนื่องจากในเดือนสาม อากาศของภูมิภาคอีสาน กำลังอยู่ในฤดูหนาว ในตอนเช้าผู้คนจะใช้ฟืนก่อไฟผิงแก้หนาวเมื่อฟืนถูกไฟเผาเป็นถ่าน ชาวบ้านจะเอาข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลม โรยเกลือวางไว้บนเตาไฟ เราเรียกว่า ข้าวจี่
มีเรื่องเล่าในพระธรรมบทว่า มีหญิงคนหนึ่งชื่อนางปุณณทาสี เป็นคนยากจนต้องไปเป็นทาสีรับใช้ของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งเศรษฐีให้นางไปซ้อมข้าว นางซ้อมตลอดวันก็ไม่หมด ตกตอนเย็นนางก็จุดไฟซ้อมต่อไป ได้รับความเหน็ดเหนื่อยเป็นอันมาก พอถึงตอนเช้ามานางก็เอารำทำเป็นแป้งจี่ เผาไฟให้สุกแล้วใส่ไว้ในผ้าของตนเดินไปตักน้ำปรารถนาจะบริโภคด้วยตนเอง ครั้นถึงกลางทางได้พบพระศาสดาเกิดความเลื่อมใส คิดว่าเราเป็นคนยากจนในชาตินี้ ก็เพราะมิได้ทำบุญไว้แต่ปางก่อนและชาตินี้เราก็ยังไม่เคยทำบุญเลย เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วนางก็น้อมเอาข้าวแป้งจี่นั้นเข้าไปถวายแด่พระศาสดา พระองค์ทรงรับแล้ว และนางคิดอีกว่าพระศาสดาคงไม่เสวย พราะอาหารเศร้าหมอง เมื่อพระศาสดาทรงทราบวารจิตของนางเช่นนั้น พระองค์จึงประทับเสวยต่อหน้าของนาง ครั้นเสวยเสร็จแล้วก็ตรัสอนุโมทนากถาโปรดนางจนสำเร็จโสดาปัตติผล เป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา กาลํ กตฺวา ครั้นนางทำกาลกิริยาแล้วก็ได้ไปเกิดบนดาวดึงส์สวรรค์เสวยทิพย์สมบัติ อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภา มีนางฟ้าแวดล้อมเป็นยศบริวาร ดังนั้น ชาวนาเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจึงพากันทำบุญข้าวจี่ เพราะถือว่าการถวายข้าวจี่มีอานิสงฆ์มาก





งานประเพณีบุญเดือนสาม

คำบูชาพระวันมาฆบูชา

อชฺชยํ มาฆปุณฺณมี สมฺปตฺตา มาฆนกฺขนฺเตน ปุณฺณจนฺโท ยุตฺโต ตถาคโต อรหฺ สมฺมาสมฺพุทฺโธ จาตุรงฺคิเก สาวกสนฺนิปาเต โอวาทปาติโมกฺขํ อุทฺทิสิ ตทาหิ อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ สพฺเพสํเยว ขีณาสวานํ สพฺเพเต เอหิภิกฺขุกา สพฺเพปิ เต อนามนฺติตาว ภควโต สนฺติกํ อาคตา เวฬุวเน กลนฺทกนิวาเป
มาฆปุณฺณมิยํ วฑฺฒมานกฉายาย ตสฺมิญฺจิ สนฺนิปาเต ภควา วิสุทฺธุโปสถํ อกาสิ อยํ อมฺหากํ ภควโต เอโกเยว สาวกสันฺนิปาโต อโหสิ จาตุรงฺคิโก อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ สพฺเพสํเยว ขีณาสวานํ มยนฺทานิ อิมํ มาฆปุณฺณมี นกฺขตฺตสมยํ ตกฺกาลสทิสํ สมฺปตุตา จิรปรินิพฺพุฒมฺปิ ตํ ภควนฺตํ อนุสฺสรมานา อิมสฺมึ ตสฺส ภควโต สกฺขิภูเต เจติเย อิเมหิ ทีปธูปปุปฺผาทิสกฺกาเรหิ ตํ ภควนฺตํ ตานิ จ อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ อภิปูชยาม สาธุ โน ภนฺเต ภควา สาวกสงฺโฆ สุจิรปรินิพฺพฺโตปิ คุเณหิ ธรมาโน อิเม สกฺกาเร ทุคฺคตปณฺณาการภูเต ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

ประเพณีบุญเดือนยี่

 เดือนยี่ – บุญคูณลาน

              


ตามธรรมเนียมประเพณีของอีสานบ้านเฮาหรือ “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” เมื่อถึงเดือนยี่ หรือเดือนสองจะมีพิธีหรือมีบุญประเพณีเพื่อเป็นสิริมงคงคือ “บุญคูณลาน”
ความหมายของคำว่า “คูณลาน” หมายความว่าเพิ่มเข้าให้เป็นทวีคูณ หรือทำให้มากขึ้นนั่นเองส่วนคำว่า “ลาน” คือสถานที่สำหรับนวดข้าว การนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า “คูณลาน” การทำประเพณีบุญคูณลานกำหนดเอาเดือนยี่เป็นเวลาทำ เพราะกำหนดเอาเดือนยี่นี่เองจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุญเดือนยี่ ดังบรรพบุรุษได้ผูกกลอนผญาอีสานสอนให้ชาวบ้านเตรียมการก่อนทำบุญไว้ว่า

“เถิงฤดูเดือนยี่มาฮอดแล้ว

ให้นิมนต์พระสงฆ์องค์เจ้ามาตั้งสวดมงคล

เอาบุญคูณข้าวเข้าป่าหาไม้เห็ดหลัว

อย่าได้หลงลืมทิ่มฮีตเก่าคองเดิมเฮาเด้อ”

หมายความว่า เมื่อถึงฤดูเดือนยี่มาถึงให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมงคลทำบุญคูณข้าว ให้จัดหาไม้มาไว้ทำฟืนสำหรับใช้ในการหุงต้มประกอบอาหาร อย่าได้หลงลืมประเพณีเก่าแก่แต่เดิมมาของเรา



บุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูณลาน

การทำบุญคูณลาน หลายๆหมู้บ้านอาจจะทำไม่ตรงกัน เพราะว่าการเก็บเกี่ยวข้าวอาจจะไม่ตรงกัน แต่จะทำในช่วงเดือนสอง หรือตรงกับช่วงเดือนมกราคม มูลเหตุที่จะมีการทำบุญชนิดนี้นั้นเนื่องจาก ผู้ใดทำนาได้ข้าวมาก ๆ ก่อนหาบหรือขนข้าวมาใส่ยุ้งฉางก็อยากจะทำบุญกุศล เพื่อเป็นสิริมงคลให้เพิ่มความมั่งมีศรีสุขแก่ตนและครอบครัวสืบไป

ก่อนทำบุญคูณลาน มีประเพณีของชาวอีสานบางแห่งบางอย่าง เรียกว่า ไปเอาหลัวเอาฟืน โดยชาวบ้านกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งในเดือนยี่ ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาเสร็จแล้วพากันไปเอาหลัวเอาฟืนมาเตรียมไว้สำหรับก่อไฟหุงต้มอาหารบ้าง ใช้สำหรับก่อไฟผิงหนาวบ้าง สำหรับให้สาว ๆ ก่อไฟปั่นฝ้ายตามลานบ้านบ้าง (คำว่าหลัว หมายถึง ไม้ไผ่ที่ตายแล้ว เอามาใช้เป็นฟืน หมายถึงไม้แห้งที่มีแก่นแข็งทุกชนิด เพื่อใช้ทำฟืนก่อไฟโดยทั่วไป)




บุญคูณลาน บ้านโนนรัง

มูลเหตุดั้งเดิมที่จะมีการทำบุญคูณลาน มีเรื่องเล่าว่า ครั้งพุทธศาสนาของพระกัสสะปะมีชายสองคนพี่น้องทำนาในที่เดียวกัน พอข้าวออกรวงเป็นน้ำมัน น้องชายได้ชวนพี่ชายทำข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ แต่พี่ชายไม่เห็นชอบด้วย ทั้งสองพี่น้องจึงแบ่งนากันคนละส่วน เมื่อน้องชายได้เป็นเจ้าของที่นาที่แบ่งกันแล้ว จึงได้ถวายทานแด่พระสงฆ์ตามความพอใจ โดยทำบุญเป็นระยะถึงเก้าครั้ง นับแต่เวลาข้าวเป็นน้ำนมก็ทำข้าวมธุปายาสถวายครั้งหนึ่งเวลาข้าวพอเม่า ก็ทำข้าวเม่าถวายครั้งหนึ่ง เวลาจะลงมือเก็บเกี่ยวก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลามัดข้าวทำเป็นฟอนก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลาขนข้าวเข้าลานก็ถวายทานครั้งหนึ่ง และเวลาเก็บข้าวใส่ยุ้งฉางเสร็จก็ทำบุญอีกครั้งหนึ่งและตั้งปณิธานปรารถนาให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอนาคต พอถึงพุทธศาสนาของพระสมณโคดมถึงได้เกิดเป็นโกณฑัญญะ ได้ออกบวชและสำเร็จพระอรหันต์เป็นปฐมสาวก ได้ชื่อว่าอัญญาโกณฑัญญะ ส่วนพี่ชายได้ทำบุญเพียงครั้งเดียวเฉพาะตอนทำนาเสร็จแล้ว เมื่อถึงศาสนาพระสมณฅโคดมได้เกิดเป็นสุภัททปริพาชกได้สำเร็จอนาคามิผลเป็นพระอริยบุคคลองค์สุดท้าย ในพระพุทธศาสนาเนื่องจากอานิสงส์จากให้ข้าวเป็นทานน้อยกว่าน้องชาย ชาวอีสานเมื่อทราบอานิสงส์จากการทำบุญดังกล่าวจึงได้นิยมทำบุญคูณลานต่อ ๆ กันมา




เที่ยวงานบุญคูณลาน


พิธีกรรม
ในการทำบุญคูณลาน จะต้องจัดเตรียมสถานที่ทำบุญที่ลานนวดข้าวของตน การนำข้าวที่นวดแล้วมากองขึ้นให้สูงเรียกว่า คูณลาน จากนั้นนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอมไว้ประพรมขึงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าวเมื่อพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้วถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นนำข้าวปลาอาหาร มาเลี้ยงญาติพี่น้อง ผู้มาร่วมทำบุญ พระสงฆ์ฉันเสร็จก็จะประพรมน้ำพุทธมนต์ให้กองข้าว ให้เจ้าภาพและทุกคนที่มาในงาน เสร็จแล้วก็จะให้พรและกลับวัด เจ้าภาพก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ที่เหลือไปประพรมให้แก่วัว ควาย ตลอดจนเครื่องมือในการทำนาเพื่อความเป็นสิริมงคล

ในปัจจุบันนี้ บุญคูณลานค่อยๆเลือนหายไป เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้สนใจประพฤติ ปฏิบัติกัน ประกอบกับในทุกวันนี้ชาวนาไม่มีลานนวดข้าวเหมือนเก่าก่อน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ และมัดข้าวเป็นฟ่อนๆ แล้วจะขนมารวมกันไว้ ณ ที่ที่หนึ่งของนา โดยไม่มีลานนวดข้าว หลังจากนั้นก็ใช้เครื่องสีข้าวมาสีเมล็ดข้าวเปลือกออกจากฟางลงใส่ในกระสอบและในปัจจุบันยิ่งมีการใช้รถไถนา เครื่องสีข้าว เป็นส่วนมากจึงทำให้ประเพณีคูณลานนี้เลือนหายไป แต่ก็มีบางหมู่บ้านบางแห่งที่ยังรวมกันทำบุญโดยนำข้าวเปลือกมา กองรวมกัน เรียก “กุ้มข้าวใหญ่” ซึ่งจะเรียกว่าบุญกุ้มข้าวใหญ่ แทนการทำบุญคูณลาน ซึ่งนับว่าเป็นการประยุกต์ใช้ “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ให้เหมาะกับกาลสมัย




ประเพณีบุญสู่ขวัญข้าว-บุญคูณลาน


อุปกรณ์ที่จะต้องเตรียมดังนี้
๑. ใบคูณ ใบยอ อย่างละ ๗ ใบ ๖. ยาสูบ ๔ มวน
๒. เขาควายหรือเขาวัว ๑ คู่ ๗. หมาก ๔ คำ
๓. ไข่ ๑ ฟอง ๘. ข้าวต้ม ๑ มัด
๔. มัน ๑ หัว ๙. น้ำ ๑ ขัน
๕. เผือก ๑ หัว ๑๐. ขัน ๕ ดอกไม้ ธูปเทียน

เมื่อพร้อมแล้วก็บรรจุลงในก่องข้าว (หรือกระติ๊บข้าว) ยกเว้นน้ำและเขาควาย ซึ่งเรียกว่า “ขวัญข้าว” เพื่อเตรียมเชิญแม่ธรณีออกจากลานและบอกกล่าวแม่โพสพ นำก่องข้าว เขาควาย ไม้นวดข้าว ๑ คู่ ไม้สน ๑ อัน คันหลาว ๑ อัน มัดข้าว ๑ มัด ขัดตาแหลว ๑ อัน (ตาแหลว เป็นอุปกรณ์ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้คาถากุ้มข้าวใหญ่ของลานอื่นดูดไป) นำไปวางไว้ที่หน้าลอมข้าว(กองข้าว) เสร็จแล้วเจ้าของนาก็ตั้งอธิษฐานว่า “ขอเชิญแม่ธรณีได้ย้ายออกจากลานข้าว และแม่โพสพอย่าตกอกตกใจไปลูกหลานจะนวดข้าวจะเหยียบย่ำอย่าได้โกรธเคืองหรืออย่าให้บาป” อธิษฐานแล้วก็ดึงเอามัดข้าวที่ฐานลอม (กองข้าว) ออกมานวดก่อนแล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้วห่อหุ้มก่องข้าวมัดให้ติดกัน เอาไม้คันหลาวเสียบฟาง เอาตาแหลวผูกติดมัดข้าวที่เกี่ยวมาจากนาตาแฮกเข้าไปด้วย แล้วนำไปปักไว้ที่ลอมข้าวเป็นอันว่าเสร็จพิธี ต่อไปก็ลงมือนวดข้าวทั้งลอมได้เลย เมื่อนวดเสร็จก็ทำกองข้าวให้เป็นกองสูงสวยงาม เพื่อจะประกอบพิธีบายศรีสูตรขวัญให้แก่ข้าว โดยเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และตาแหลวไปปักไว้ข้างกองข้าวทั้ง ๔ มุม นำตาแหลวและขวัญข้าวไปวางไว้ยอดกองข้าวพันด้วยด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าวแล้วโยงมายังพระพุทธรูป ถึงวันงานก็บอกกล่าวญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญ นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วก็ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำมนต์ นำพระพุทธมนต์ไปรดกองข้าว วัว ควาย เมื่อเสร็จพิธีทางพระสงฆ์แล้วก็จะเป็นการประกอบพิธีบายศรีสูตรขวัญให้แก่ข้าว

ประเพณีบุญเดือนอ้าย



           เดือนอ้าย  บุญเข้ากรรม


                                                       

ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนเจียง เข้ากลายมาแถมถ่ายฝูงหมู่สังฆเจ้าก็เตรียมเข้าอยู่กรรมมันหาธรรมเนียมนี้ถือมาตั้งแต่ก่อน อย่าได้ละห่างเว้นเข็ญ (บาปเข็ญ คือ สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ความชั่วร้าย ไม่เป็นมงคล)สิข่องแล่นนำ แท้แหล่ว

บุญเข้ากรรม

ภิกษุต้องอาบัติ สังฆาทิเสส ต้องอยู่กรรมถึงจะพ้นอาบัติ ญาติโยมแม่ออกแม่ตน ผู้อยากได้บุญกุศลก็จะให้ไปทานรักษาศีลฟังธรรม เกี่ยวกับการเข้ากรรมของภิกษุ เรียกว่า บุญเข้ากรรม กำหนดเอาเดือนเจียงเป็นเวลาทำ จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ วันที่นิยม ทำเป็นส่วนมากคือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เพราะเหตุกำหนดให้ทำในระหว่างเดือนเจียงจึงเรียกว่า บุญเดือนเจียง

นิมนต์สังฆเจ้าเข้ากรรมฯ ชาวบ้านเลี้ยงผีแถนและผีต่างๆ

ดังคำกล่าวว่า

ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนเจียง เข้ากลายมาแถมถ่ายฝูงหมู่สังฆเจ้าก็เตรียมเข้าอยู่กรรมมันหาธรรมเนียมนี้ถือมาตั้งแต่ก่อน อย่าได้ละห่างเว้นเข็ญ (บาปเข็ญ คือ สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ความชั่วร้าย ไม่เป็นมงคล)สิข่องแล่นนำ แท้แหล่ว

บุญเข้ากรรมเป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิด ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตนและมุ่งประพฤติตนให้ ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป

ด้านฆราวาสก็จะมีการทำบุญเลี้ยงผีต่างๆบุญเข้ากรรมนิยมทำกันในเดือนอ้าย (เดือนเจียง) จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ ซึ่งเป็นฤดูหนาว บุญเข้ากรรมคือ พิธีทำบุญโดยให้พระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (อาบัติ หนักรองจากปาราชิก) คือพิธีเข้ากรรมการเข้ากรรมจัดทำโดยพระสงฆ์พระสงฆ์เข้าไปอยู่ในเขตหรือที่จำกัด เพื่อทรมานร่างกายให้หายจากกรรมหรือพ้นจากอาบัติที่ได้กระทำและเป็นการชำระจิตใจให้หายจากความมัวหมองด้วย บางแห่งถือว่าเมื่อบวชแล้วจะแทนคุณมารดาได้จะต้องอยู่กรรม (อยู่ไฟหลังคลอด) เพราะมารดาท่านเคยอยู่กรรมมาแล้ว

"ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเมื่อเดือนเจียงเข้ากลายมาแถมถ่าย ฝูงหมู่สังฆเจ้ากะเตรียมเข้าอยู่กรรม มันหากธรรมเนียมนี้ถือมาตั้งแต่ก่อน อย่าได้ละห่างเว้นเข็ญสิข้องแล่นนำ แท้แหล่ว"

หนึ่งในฮีต ๑๒ คือ บุญเดือนอ้ายหรือเดือนเจียงที่พุทธศาสนิกชนชาวอีสานให้ความสำคัญอีกงานหนึ่ง เพราะเป็นช่วงที่พระสงฆ์จะมีการเข้ากรรมหรืออยู่บริวาสกรรมเพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเลสตาม คติไทยเดือนอ้ายหรือเดือนเจียงของชาวอีสาน จะมีประเพณีการทำบุญเข้ากรรมของพระสงฆ์ ประเพณีเส็งกลอง (แข่งขันตีกลอง) ทำบุญดอกผ้า ประเพณีนวดข้าว เป็นต้น

โดยมากงานบุญในเดือนนี้มักจะเป็นพิธีกรรมทางสงฆ์เสียมากกว่า ผู้คนมีความเชื่อกันว่า หากทำบุญแด่พระสงฆ์ในช่วงที่ท่านเข้ากรรมจะได้อานิสสงฆ์สูง เพราะในยามที่พระสงฆ์เข้ากรรมถือเป็นช่วงที่เคร่งวินัยและบริสุทธิ์มากที่สุด การเข้ากรรมของพระสงฆ์ก็เปรียบได้กับการอยู่กรรม ของแม่ลูกอ่อนหรือหญิงที่พึ่งจะคลอดลูกใหม่ที่จะต้องอยู่กรรม ปฏิบัติตัวให้เหมาะสมคือจะต้องรู้จักคะลำ ทั้งเรื่องการกินและกิจวัตร ทั้งนี้เพื่อให้เกิความปลอดภัยทั้งแม่และลูก

ส่วนการเข้ากรรมของพระภิกษุสงฆ์นั้นเป็นเรื่องที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นการทำเพื่อให้พระที่ต้องอาบัติที่หนัก

หนึ่งในฮีต ๑๒ คือ บุญเดือนอ้ายหรือเดือนเจียงที่พุทธศาสนิกชนชาวอีสานให้ความสำคัญอีกงานหนึ่ง เพราะเป็นช่วงที่พระสงฆ์จะมีการเข้ากรรมหรืออยู่บริวาสกรรมเพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเลสตาม คติไทยเดือนอ้ายหรือเดือนเจียงของชาวอีสาน จะมีประเพณีการทำบุญเข้ากรรมของพระสงฆ์ ประเพณีเส็งกลอง (แข่งขันตีกลอง) ทำบุญดอกผ้า ประเพณีนวดข้าว เป็นต้น

โดยมากงานบุญในเดือนนี้มักจะเป็นพิธีกรรมทางสงฆ์เสียมากกว่า ผู้คนมีความเชื่อกันว่า

หากทำบุญแด่พระสงฆ์ในช่วงที่ท่านเข้ากรรมจะได้อานิสสงฆ์สูง เพราะในยามที่พระสงฆ์เข้ากรรมถือเป็นช่วงที่เคร่งวินัยและบริสุทธิ์มากที่สุด การเข้ากรรมของพระสงฆ์ก็เปรียบได้กับการอยู่กรรม ของแม่ลูกอ่อนหรือหญิงที่พึ่งจะคลอดลูกใหม่ที่จะต้องอยู่กรรม ปฏิบัติตัวให้เหมาะสมคือจะต้องรู้จักคะลำ ทั้งเรื่องการกินและกิจวัตร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งแม่และลูก

ส่วนการเข้ากรรมของพระภิกษุสงฆ์นั้นเป็นเรื่องที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นการทำเพื่อให้พระที่ต้องอาบัติที่หนักรองลงมาจากปราชิก ทำพิธีวุฏฐานพิธีซึ่งเป็นระเบียบอันเป็นเครื่องออกจากอาบัติ อันเป็นพิธีกรรมที่ทำให้จิตใจไม่หมองมัว หรืออีกนัยหนึ่งก็เพื่อระลึกถึงการกระทำอันเป็นบาปที่ทำมาตลอดเข้าพรรษา หรือตั้งแต่กำเนิด บ้างก็ว่าการคร่ำเคร่งในการเข้ากรรมของพระสงฆ์เพื่อเป็นการทดแทนการอยู่กรรมของมารดาที่แสนจะทรมาน

มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า ในสมัยพุทธกาล ในช่วงที่พระภิกษุสงฆ์จะเข้าปริวาสกรรม มีพระสงฆ์รูปหนึ่ง ล่องเรือไปตามแม่น้ำคงคา ได้เอามือไปจับใบตะไคร่น้ำขาดเพียงเล็กน้อย การทำลายชีวิตในครั้งนั้นเข้าใจว่าเป็นเพียงบาปเล็กน้อย เป็นอาบัติอย่างเบา จึงไม่แสดงอาบัติ

แต่เหตุในครั้งนั้นก็ยังคงค้างคาอยู่ในใจของภิกษุรูปนั้นอยู่เสมอตลอดระยะเวลาในช่วงเวลาที่ปฏิบัติธรรมในป่าและคงอยู่เป็นเวลานาน แต่เมื่ออยากแสดงอาบัติในการทำใบตะไคร่น้ำขาดในครั้งนั้นก็ไม่มีภิกษุรูปใดรับฟัง เมื่อภิกษุรูปนี้ได้มรณภาพลง บาปกรรมก็ยังติดตัวไปยังภพใหม่ด้วย จะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงแล้วช่วงระยะเวลาการเข้ากรรมของพระสงฆ์นั้น เป็นช่วงที่ท่านแสดงซึ่งอาบัติที่เคยกระทำมาและยอมรับในการทำผิดนั้น มิได้บริสุทธิ์กว่ากาลที่ผ่านมา แต่เป็นความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ในปัจจุบัน ชาวอีสานก็ยังให้ความสำคัญกับงานบุญในเดือนเจียงนี้อยู่แม้จะมีจำนวนลดน้อยลงบ้างตามกาลเวลา

พิธีกรรมที่ทำส่วนใหญ่ก็จะทำขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันสร้างความสมัคสมานสามัคคีและหล่อหลอมให้เป็นคนรู้จักสัมมาคารวะเคารพผู้อาวุโสในชุมชน รู้จักการแยกแยะรู้จักการให้อภัยแก่กัน ก็คือให้คนในชุมชนอยู่ด้วยการอย่างมีคุณธรรมไม่โลภ โกรธ หลง ต่างคนต่างพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ถือชั้นวรรณะ และเป็นการสืบทอดศิลปะขนบธรรมเนียมประเพณีต่างให้สังคมเกิดความเป็นสุขนั่นคือจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ของประเพณีพิธีกรรมของชาวอีสาน ซึ่งเป็นความสำคัญและงดงามมากในอดีตกาล