เดือนแปด บุญเข้าพรรษา
เดือน ๘ เป็นเดือนอยู่ในระยะหน้าฝน และเป็นเดือนที่พระอยู่จำพรรษาตลอดสามเดือน ไม่ไปค้างคืนที่อื่น ยกเว้นแต่มีกิจที่จำเป็น บางทีพอที่จะอนุโลม ให้ไปค้างคืนที่อื่นได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน ๗ วัน ถ้าเกินนั้นถือว่าพรรษาขาด โดยปกติแล้วกำหนดเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของปีที่เป็นปกติมาส(๘ หนเดียว) เป็นวันอธิฐานเข้าพรรษา สำหรับปีที่เป็นอธิกมาสคือ ๘ สองหน กำหนดเอาวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ หลัง เป็นวันอธิฐานเข้าพรรษา เพราะมีกำหนดทำกันในเดือน ๘ เป็นประจำ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนแปด”
ส่วนการทำบุญในวันเข้าพรรษานี้ ส่วนใหญ่แล้วจะมีการถวายเทียนเข้าพรรษา เพื่อให้ภิกษุสามเณร ได้จุดบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณตลอดพรรษา และอีกอย่างหนึ่งคือการถวายผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระได้ใช้นุ่งอาบน้ำในหน้าฝน ตลอดทั้งการใช้ประโยชน์อย่างอื่นตามความเหมาะสม ซึ่งในเรื่องการถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้ มีเรื่องเล่าไว้ในฎีกาสมันตปสาทิกา ในส่วนที่ว่าด้วยวัสสูปนายิกขันธกะว่า ในยุคต้นๆก่อนพุทธกาล พระภิกษุสมัยนั้นเปลือยตัวอาบน้ำ อันเนื่องมาจากจีวรหรือผ้าใช้นุ่งห่มนี้น้อย จึงต้องใช้ผ้าอย่างจำกัด วันหนึ่งนางวิสาขามหาอุบาสิกาใช้ให้สาวใช้ไปวัด ในขณะนั้นฝนกำลังตก พอสาวใช้เข้าไปในวัด นางเห็นพวกภิกษุเปลือยตัวอาบน้ำฝนกันอยู่ เกิดเข้าใจว่าเป็นเปรต จึงได้กลับไปบอกนางวิสาขาว่า ที่วัดไม่มีพระเลยซักองค์เดียว มีแต่พวกเปรตเดินเพ่นพล่านอยู่ทั่ววัด นางวิสาขาเกิดความสงสัยว่า ถ้าในวัดมีแต่เปรตเช่นว่านั้นแล้ว พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ จะมีความเป็นอยู่อย่างไร ด้วยความเป็นห่วงนางจึงได้มายังวัดพระเชตวันพร้อมทั้งสาวใช้ แต่ก็ไม่เห็นอะไรเลย เพราะฝนได้หยุดตกแล้ว นางได้เข้าเฝ้าและทูลถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องตามความเป็นจริงให้ฟังว่า ที่อุบาสิกาเห็นนั้นมิใช่เปรต นั้นเป็นภิกษุที่กำลังอาบน้ำฝนอยู่ต่างหาก
ในเมื่อนางวิสาขาเข้าใจความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว นางจึงได้ขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุสงฆ์เป็นคนแรก และพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต การถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้ ถือได้ว่า ได้บุญมาก และเป็นกาละทานชนิดหนึ่งที่ชาวพุทธทั่วไปนิยมทำกันเมื่อถึงฤดูเข้าพรรษา เดือนแปดนี้ มีบทผญาประจำเดือนที่นักปราชญ์โบราณกล่าวไว้ว่า...
"จันทร์เพ็งแจ้งทอแสงใสสง่า
เดือนแปดมาฮอดแล้วแววสิขึ้นลื่นหลัง
เดือนนี้สงฆ์เพิ่นยังเข้าอยู่จำพรรษา
ภาวนาอบรมข่มใจทุกแลงเช้า
เฮามาพากันเข้าเอาบุญพร้อมพร่ำ
ถวายผ้าอาบน้ำฟ้าให้ญาท่านได้ใช้สอย
ถือเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด เป็นวันทำบุญ การเข้าพรรษาได้แก่ พระภิกษุสามเณร อยู่ประจำวัดใดวัดหนึ่งตลอด ๓ เดือน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปด ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรไปค้างคืนที่อื่น นอกจากไปด้วยสัตตาหกรณียะ คือการไปค้างคืนนอกวัดในระหว่างอยู่จำพรรษา เมื่อมีเหตุจำเป็น ได้แก่
๑. สหธรรมิก (ผู้มีธรรมอันร่วมกัน) หรือมารดาบิดาป่วย ไปเพื่อรักษาพยาบาล
๒. สหธรรมิกกรวะสันจะสึก ไปเพื่อระงับ
๓. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุด ไปเพื่อปฏิสังขรณ์
๔. ทายกบำเพ็ญกุศล ส่งมานิมนต์ไปเพื่อบำรุงศรัทธา
แม้ธุระอื่นนอกจากนี้ ที่เป็นกิจจะลักษณะอนุโลมตามนี้ก็ไปค้างคืนที่อื่นได้ และต้องกลับมาภายใน ๗ วัน
มูลเหตุมีการเข้าพรรษาเนื่องจากสมัยพุทธกาาล เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอย่เวฬุวันกลันทกะนิวาปะสถาน ณ เมืองราชคฤห์ มีพระภิกษุพวกหนึ่งเรียกว่า "ฉับพัคคีย์” ได้เที่ยวไปทุกฤดูกาล ไม่สหยุดพักเลย โดยเฉพาะฤดูฝนอาจไปเหยียบย่ำข้าวกล้า และหญ้าระบัดใบ ตลอดสัตว์เล็กเป็นอันตราย ประชาชนทั่วไปพากันติเตียน พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุสามเณรจำพรรษาตามกำหนดเวลาดังกล่าว
พิธีทำบุญเข้าพรรษา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด ชาวบ้านมีการถวายภัตตาหารเข้าหรือเพล พร้อมเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นแด่พระสงฆ์ เช่น ไตรจีวร ตั่งเตียง ยารักษาโรค เป็นต้น โดยเฉพาะเครื่องให้แสงสว่าง เช่น เทียน ตะเกียง น้ำมัน เป็นต้น ถือเป็นสิ่งสำคัญ เชื่อว่าถวายแล้วทำให้ตาทิพย์และสติปัญญาดี จอกจากนี้ มีการถวายต้นเทียน ซึ่งหล่อเป็นเล่ม หรือแท่งขนาดใหญ่ ตกแต่งอย่างสวยงาม และผ้าอาบน้ำฝน ตลอดบริวารอื่น ๆ แด่พระสงฆ์ มีการสวดมนต์ และฟังเทศน์ด้วย
วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือน ในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ จนถึงกลางเดือน ๑๑ วันเข้าพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้มีอยู่ ๒ วันคือ
วันเข้าปุริมพรรษา คือเข้าพรรษาแรก ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๑๑
วันเข้าปัจฉิมพรรษา คือวันเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ไปจนถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒
เมื่อเข้าพรรษาแล้วหากภิกษุมีกิจธุระจำเป็น อันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ โดยมีข้อจำกัดว่าจะต้องกลับมายังสถานที่จำพรรษาเดิมภายใน ๗ วัน ที่เรียกว่า สัตตาหกรณียะ ดังต่อไปนี้
๑. เมื่อทายกทายิกา ปราถนาจะบำเพ็ญกุศล เมื่อมานิมนต์ก็ให้ไปเพื่อรักษาศรัทธาได้
๒. ถ้าสงฆ์ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเกิดอธิกรณ์ขึ้น ก็ให้ไปเพื่อระงับอธิกรณ์ได้
๓. ถ้าบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ เป็นไข้ เมื่อทราบก็ให้ไปได้
๔. พระวิหารในที่แห่งอื่นเกิดชำรุดเสียหาย ให้ไปหาสิ่งของเพื่อมาปฏิสังขรพระวิหารนั้นได้
๕. เมื่อถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น พระวิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม ก็ให้ไปจากที่นั้นได้
๖. เมื่อชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป ก็ให้ไปกับพวกชาวบ้านได้โดยให้ไปกับชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธาสามารถที่จะให้ความอุปถัมภ์ได้
๗. เมื่อที่ใดเกิดความขาดแคลน อาหารหรือยารักษาโรค ขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง ได้รับความลำบากก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
๘. ถ้าหากมีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
๙. หากภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกันหรือมีผู้พยายามจะให้แตกกัน ถ้าการไปจากที่นั้นสามารถระงับการแตกกันได้ ก็อนุญาตให้ไปได้
ในวันเข้าพรรษา ถือว่าเป็นกรณียกิจพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จะมีการประชุมกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาซึ่งกันและกัน เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีเข้าพรรษา ภิกษุจะอธิษฐานใจตนเองว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า
อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ
หรือว่า อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ
แปลว่า ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือน ในอาวาสนี้ หรือในวิหารนี้ (ว่า ๓ ครั้ง)
หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้วก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญในอาวาสนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และพระเถระที่ตนเคารพนับถือ
ในวันเข้าพรรษานี้ตามประวัติ ชาวไทยเราได้ประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันเข้าพรรษา มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีทั้ง พิธีหลวง และ พิธีราษฎร์ กิจกรรมที่กระทำก็มีการเตรียมเสนาสนะให้อยู่ในสภาพที่ดี สำหรับจะได้จำพรรษาอยู่ตลอด ๓ เดือน จัดทำ เทียนจำนำพรรษา เพื่อใช้จุดบูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมา พระปริยัติธรรม ตลอดทั้ง ๓ เดือน ถวายธูป เทียน ชวาลา น้ำมันตามไส้ประทีปแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในพระอาราม
สำหรับเทียนจำนำพรรษาจะมีการ แห่เทียน ไปยังพระอารามทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่หนทางที่ไปจะอำนวยให้ เพื่อนำเทียนเข้าไปตั้งในพระอุโบสถหรือพระวิหาร แล้วก็จะจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย
สำหรับการปฏิบัติอื่นๆ ก็จะมีการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน การอธิษฐานตนว่าจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของศีลห้า ศีลแปด ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด ตามกำลังศรัทธา และขีดความสามารถของตน นับว่าวันเข้าพรรษาเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชน จะได้ประพฤติปฏิบัติตนในกรอบของพระพุทธศาสนาได้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น